2549 – 2558 โบราณคดียุคออนไลน์ แบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการแก่สาธารณะ มีส่วนร่วมกับสังคม และเตรียมพร้อมสู่การปรับตัวในอนาคต Download Document

โบราณคดียุคใหม่

ในยุคที่การสื่อสารกว้างไกลรวดเร็ว ข่าวสาร ความคิดเห็น สื่อสารผ่านโลกออนไลน์ สามารถเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ต่างๆ ไปสู่คนจำนวนมากในเวลารวดเร็วและประหยัดงบประมาณ จึงมีการรวมกลุ่มของภาควิชา และกลุ่มกิจกรรม ชมรม ค่าย โครงการต่างๆ ของนักศึกษา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเฟซบุ๊ก เผยแพร่ฐานข้อมูลความรู้ต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ เช่น ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่เริ่มต้นมาจากอาจารย์ในภาควิชาภาษาตะวันออก, ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชีย ของศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์, เอกสารและภาพถ่าย ของห้องสมุด ศ. ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล, สูจิบัตร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น โดยที่ในโลกของความเป็นจริงคณะโบราณคดีและนักศึกษาก็ยังได้ทำกิจกรรมปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสังคม มีการร่วมมือในทางวิชาการ การเสวนาให้ความรู้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่กำลังเป็นที่สนใจหรือเกิดขึ้นในสังคมขณะนั้น นับเป็นช่วงเวลาที่คณะโบราณคดีเข้าถึงและสื่อสารกับสังคมภายนอกมากยิ่งขึ้น ด้านหลักสูตรการศึกษาได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัจจัยในหลายๆ ด้าน เตรียมความพร้อมสู่โบราณคดีในทศวรรษหน้า

2549

พ.ศ. 2549-2550 ภาควิชาภาษาฝรั่งเศสเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีโปรแกรมการฝึกงานที่เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตควบคู่กับประกาศนียบัตรมัคคุเทศก์ ซึ่งออกให้โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่หลังจากเปิดได้เพียงรุ่นเดียวก็จำเป็นต้องปิดลง เนื่องด้วยปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์ของหลักสูตร

จัดตั้งศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณในเอเชียอาคเนย์ ขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม และศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เป็นหน่วยงานหนึ่งในคณะโบราณคดี มีจุดประสงค์หลักในการบริการวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ศิลปะเอเชียอาคเนย์ และศิลปะเอเชียที่เกี่ยวเนื่องสู่สาธารณชน

ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดีดำเนินการโครงการขุดแต่งทางโบราณคดีภายในพื้นที่กระทรวงพาณิชย์ (เดิม) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์จึงต้องมีการดำเนินงานทางโบราณคดีก่อนที่จะมีการใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Museum Siam) โดยดำเนินการขุดแต่งระหว่าง ต.ค. 2549 – เม.ย. 2550

วันที่ 21–23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 คณะโบราณคดีได้จัดงานประชุมทางวิชาการนานาชาติ ในเรื่อง “มรดกวัฒนธรรม : ไทยกับเพื่อนบ้าน” ขึ้นที่อาคารศูนย์รวม 3 ห้อง 304 หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เพื่อเทิดประเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพระบรมราชวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี และครบรอบ 50 ปี คณะโบราณคดี โดยในครั้งนี้ ได้จัดพิมพ์หนังสือออกมา ในชื่อเดียวกัน

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เริ่มต้น งานวิจัย “พัฒนาการของงานศิลปกรรมเมืองลพบุรี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ถึง พุทธศตวรรษที่ 24” เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการลพบุรีศึกษาเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจไทย ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัย และพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างคณาจารย์ในภาควิชา ได้แก่ ผศ. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ, อาจารย์อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช, และประภัสสร์ ชูวิเชียร โดยมี รศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เป็นหัวหน้าโครงการ

ชมรมล้านนา ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2549 โดยนายอติกร วังซ้าย นายตรีภพ นาคปฐม และนางสาววนัสนันท์ จันทร์นิ่ม นักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีนายอติกร วังซ้าย เป็นประธานชมรมล้านนาคนแรก และอาจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมคนแรก ในช่วงแรกตั้งชมรม ได้อยู่ในสังกัดของชมรมศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ โดยต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2550 จึงแยกออกมาเป็นกลุ่มกิจกรรม และตั้งเป็นชมรมล้านนาขึ้นในวิทยาเขตวังท่าพระ

2550

ค่ายทัศนบูรณาการโบราณคดี หรือ “ค่ายส่อง” หรือ “ค่ายมัคคุเทศก์” จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 โดยจัดขึ้นที่ที่จังหวัดสุโขทัยและจังหวัดน่าน กิจกรรมของค่ายมักจะพาเที่ยวชมแหล่งประวัติศาสตร์ประกอบกับคำบรรยายของวิทยากรทำให้ผู้เข้าร่วมเรียนรู้วิธีการและจดจำคำบรรยายต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการนำชมแก่ผู้อื่นๆ ได้

งานเสวนา “คนไทย เป็นใคร? มาจากไหน? ใน แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย” ณ ท้องพระโรง และสวนแก้ว วังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร วันที่ 14 กันยายน 2550 โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับ คณะโบราณคดี และสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมของคนไทยตั้งแต่สมัยอดีตกาล และเป็นการเปิดตัวหนังสือ “แผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่จัดทำให้กับสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และจะแจกให้สถาบันทั่วประเทศ

2551

ภาควิชาโบราณคดีได้ทำการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน–27 กันยายน พ.ศ.2551 เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชได้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยและศูนย์ความเป็นเลิศในการบริการทางการแพทย์ (โครงการพัฒนาศิริราชสู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์) ณ พื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟธนบุรี จากการศึกษาพบว่าพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรี (เดิม) เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง หลักฐานทางโบราณคดีที่พบล้วนสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ในสมัยอยุธยา ธนบุรี สืบเนื่องมาจนถึงในปัจจุบัน

คณะโบราณคดี จัดเสวนา “อันเนื่องด้วยความตาย” เนื่องในงานวันสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระหว่างวันที่ 21-27 มิถุนายน 2551 และเป็นปีที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ สิ้นพระชนม์ คณะโบราณคดีจึงจัดเสวนาวิชาการในหัวข้อเกี่ยวกับการพระศพและการศพ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่าน

2552

ตั้ง ชมรมสืบศิลป์ถิ่นใต้ ของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร โดยธัชวิทย์ ทวีสุข เป็นผู้ก่อตั้ง/ประธานชมรมคนแรก เพื่อให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย และผู้ที่มีความสนใจทั่วไป ได้ศึกษาและสัมผัสศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี คติความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวใต้ โดยเปิดพื้นที่ให้ชมรมเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าหาความรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี รู้คุณค่าของภูมิปัญญาชาวใต้ และอนุรักษ์ให้คงอยู่ รวมถึงมีการสืบสานแก่เยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป

2553

โครงการโบราณคดีอาสาเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม หรือที่นักศึกษาเรียกกันติดปากว่า “ค่ายใต้” เป็นหนึ่งในโครงการการสำคัญของชมรมสืบศิลป์ถิ่นใต้ ที่เริ่มดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2553 โดยมีนายยอดดนัย สุขเกษม เป็นแกนนำริเริ่มร่วมกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษาโบราณคดี รุ่น 55กิจกรรมของค่ายต้องการให้นักศึกษาคณะโบราณคดีรุ่นใหม่มีวิสัยทัศน์และทัศนคติที่ดีในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อการดูแล รักษา และใช้ประโยชน์จากทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน

งานเสวนา “Black Death โรคห่า กาฬโรค ยุคพระเจ้าอู่ทอง : ฝังโลกเก่า ฟื้นโลกใหม่ ได้ราชอาณาจักรสยาม” จัดโดย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับโครงการสนทนาวันศุกร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มติชน และข่าวสด ณ โรงละครแห่งชาติ (โรงเล็ก) กรุงเทพฯ 9 กรกฎาคม 2553

2554

คณะโบราณคดีมีการปรับปรุงหลักสูตรที่ใช้ในการเรียนการสอนครั้งใหญ่ เช่น การปรับลดบางวิชาลงจากวิชาบังคับเป็นวิชาเลือก ภาควิชาภาษาตะวันออกปิดหลักสูตรปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาตะวันออก อย่างเป็นทางการ การปรับปรุงหลักสูตรปริญญาโทจารึกศึกษา เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2551 แล้ว เช่นการปิดหลักสูตรวิชาโทมัคคุเทศก์ หรือการปิดหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส ที่เคยเปิด ในช่วงปี พ.ศ. 2549 - 2550 

หนังสือ ประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน โดย รศ. สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ หมวดวิชาประวัติศาสตร์ มาจากผลงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2528-2530 เป็นหลัก ซึ่งผู้เขียนได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ถ่ายภาพ สัมภาษณ์ เก็บเรื่องราวของผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมลุ่มน้ำท่าจีนในขณะนั้นไว้ก่อนที่จะหมดไป 

เนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปี คณะโบราณคดี คณะโบราณคดีได้จัดงานประชุมวิชาการ เรื่อง “55 ปี คณะโบราณคดี กับการอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมของชาติ” เนื่องในวโรกาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เจริญพระชนมายุ 84 พรรษา ในวันที่ 6–7 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ณ โรงแรม เอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

2555

2556

2557

ผลงานวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมการสอนเพื่อกระตุ้นให้เกิดความเต็มใจในการสื่อสารภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยระดับปริญญาตรี” ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีงบประมาณ 2556 โดย ดร. กำไลทิพย์ ปัตตะพงศ์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก

อาจารย์อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้อ่านและแปลความจารึกอักษรจีนบนแผ่นทองคำโบราณ ที่พบจาก ต. เขาชัยสน อ. เขาชัยสน จ. พัทลุง ว่าเป็นการบอกชื่อของแหล่งผลิตแผ่นทอง แซ่และชื่อของผู้การันตีหรือผู้รับรองคุณภาพทองคำ และตัวอักษรที่บอกค่าความบริสุทธิ์ของทอง และแผ่นทองลักษณะนี้ที่พบในประเทศจีนจะใช้สำหรับเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าในสมัยโบราณ

เริ่มโครงการดำรงเสวนาวิชาการ จัดโดยวารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดี เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้และประชาสัมพันธ์วารสาร ในประเด็นที่น่าสนใจจากบทความของวารสารดำรงแต่ละฉบับ โดย ครั้งที่ 1 เสวนาในเรื่อง “ทบทวนหลักฐานโบราณคดี ภูมินามและธรณีกาลของลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557

งานเสวนาหัวข้อ "เลื่อนฤทโปสเตอร์ โครงการดำรงเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 1 “ทบทวนหลักฐานโบราณคดี ภูมินามและธรณีกาลของลุ่มน้ำเจ้าพระยา” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557 จัดโดยวารสารดำรงวิชาการ คณะโบราณคดีธิ์" : อดีต ปัจจุบัน อนาคต” จัดโดยนักศึกษาสาขาวิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี วันที่ 15 ธันวาคม 2557 ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ค่ายวิชาการโบราณคดี จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557 รูปแบบกิจกรรมของค่ายวิชาการ ไม่แตกต่างจากค่ายเยาวชนรักษ์ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้านหรือค่ายมัคคุเทศก์มากนัก คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีแก่เยาวชน เพื่อให้เยาวชนเกิดจิตสำนึกและตระหนักถึงความสำคัญของโบราณวัตถุสถานที่เป็นมรดกของชาติ มุ่งเน้นในเรื่องของการให้ความรู้และเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่ต่างๆ

2558

ภาควิชาภาษาตะวันออก จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ภูมิปัญญาอาเซียน : เวชศาสตร์ในจารึกและเอกสารโบราณ” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในการศึกษาวิจัยทางด้านจารึกและเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับตำรายาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นที่แพร่หลาย 

โครงการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับมหาวิทยาลัยศิลปากร “ในความทรงจำ” เมษายน–พฤษภาคม พ.ศ. 2558 จัดโดย คณะโบราณคดี ร่วมกับ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะมัณฑนศิลป์ คณะดุริยางคศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย สำนักหอสมุดกลาง หอศิลป์ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร

คณะโบราณคดีจัดงานเสวนาและระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาลในชื่อ “#Support Nepal เสวนา โบราณคดี แด่ เนปาล” เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 มีเสวนาเรื่อง “สถาปัตยกรรมเนปาล : ประวัติศาสตร์ความทรงจำและการสูญเสีย” โดย รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี

INFO-GRAPHIC TIMELINE

OF ARCHAEOLOGY FACULTY, SILPAKORN UNIVERSITY

แผนผังภาพแสดงประวัติคณะโบราณคดีแบบเรียงลำดับเวลา